กิจกรรมทดสอบประสิทธิภาพกระบวนการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการสัมผัสสารฆ่าแมลงในเกษตรกร เกิดขึ้นจากการตระหนักรู้ถึงอันตรายที่ชาวบ้านจะได้รับจากการทำการเกษตรที่ใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้
นายนิโรจน์ ชาติพจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าตึง กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมเพื่อวิเคราะห์สารฆ่าแมลงตกค้างในโครงการครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการเข้าร่วมเป็นอย่างดี อีกทั้งหลังจากการเจาะเลือดในครั้งนี้ ยังคาดหวังถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารฆ่าแมลง การบริโภคอาหาร ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น การเกิดและการอุบัติของโรคจะลดลง
รวมถึง นางศิรินุช แก่นจันทร์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า การตรวจสารฆ่าแมลงตกค้าง อยากให้มีการตรวจ2ครั้งต่อปี เนื่องจากเกษตรกรมีการทำนาปีละ2ครั้ง คือช่วงเริ่มต้นหน้านาและหลังหน้านา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้สารฆ่าแมลงเยอะ ทั้งนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสิ้น 570 ราย การตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างช่วยให้เกษตรกรได้ทราบถึงความเสี่ยง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารฆ่าแมลงหรือเคมีภัณฑ์อื่นๆให้ปลอดภัยกับตนเองมากที่สุด และเพื่อให้เกษตรกรมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี กิจกรรมการทดสอบประสิทธิภาพกระบวนการตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากการสัมผัสสารฆ่าแมลง นางสาวธรินทร์ญา กาวิยะ นักวิจัย บริษัท ดีมีเทกซ์ โซลูชั่น จำกัด เป็นหนึ่งในทีมคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการตรวจสารฆ่าแมลงตกค้างในเลือดร่วมกับ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเมืองลอดภัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เนื่องจากเกษตรกรส่วนมากใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จึงอยากหาวิธีที่จะทำให้รู้ถึงปริมาณสารฆ่าแมลงในร่างกายของเกษตรกร เพื่อพัฒนาให้คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarker) สำหรับประเมินระดับสารฆ่าแมลงที่ตกค้างในเลือด ชื่อว่า ชุดนํ้ายาตรวจคัดกรองการสัมผัสสารฆ่าแมลง ด็อกเตอร์เอกซ์ (DR. EX) ถูกนำมาแทนที่การตรวจแบบเดิมซึ่งเป็นการประเมินระดับสารฆ่าแมลงตกค้างโดยการเทียบสีด้วยสายตา
ชุดตรวจน้ำยาด็อกเตอร์เอกซ์ (DR. EX) เป็นชุดตรวจที่ใช้วิเคราะห์ปริมาณสารฆ่าแมลงตกค้างในเลือดโดยเครื่อง Spectrophotometer ซึ่งให้ค่าความแม่นยำสูง รวดเร็ว และสามารถเทียบเท่ากับการตรวจในห้องปฏิบัติการ
ในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการสัมผัสสารฆ่าแมลงในเกษตรกรในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ตรวจเพื่อหาความเสี่ยงการสัมผัสสารฆ่าแมลงเท่านั้น ยังมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านรู้ถึงสุขภาพของตนเอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านตระหนักถึงปัญหาสุขภาพเพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที